ตามพจนานุกรมคำว่า “ ซื่อสัตย์สุจริต ” คือ “ ความประพฤติตรงไปตรงมาด้วยความจริงใจ ไม่คดโกงไม่หลอกลวง และที่สำคัญ คือ ความประพฤติด้วยความตั้งใจดี
ความซื่อสัตย์สุจริตจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าดูตามคำวิเคราะห์ศัพท์ในพจนานุกรม ความซื่อสัตย์สุจริตจะเกิดขึ้นได้โดย ผู้ปฏิบัติจะต้องมีสัจจะทั้งกาย วาจา ใจ ยึดมั่นทำแต่สิ่งที่ชอบ ไม่ประสงค์ในสิ่งที่ไม่ถึงได้อันจะนำไปสู่ความทุจริต ในการกระทำทุกอย่าง ปากพูดอะไรก็ทำอย่างนั้น คือ ปากกับใจต้องตรงกัน ที่กล่าวมานี้เป็นความหมายของความซื่อสัตย์สุจริตในความหมายทั่วไป แต่ในกรณีของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายนั้น คำว่า “ ซื่อสัตย์สุจริต ” มีความหมายลึกซึ้งกว่านี้มากและจะแตกต่างจากวิชาชีพอื่น เช่น เจ้าพนักงานเขตหรืออำเภอให้บริการที่ดีแก่ประชาชนที่ไปติดต่อขอเปลี่ยนชื่อ นามสกุล หรือในกรณี ผู้ป่วยไปหาแพทย์ แพทย์และพยาบาลให้การดูแลอย่างดี ให้ความสะดวกรวดเร็วในการรักษา ผู้บริการในทั้งสองกรณีพอใจกับบริการที่ได้รับจึงนำของกำลังหรือของขวัญไปให้เจ้าพนักงานอำเภอ แพทย์ หรือพยาบาลที่ให้บริการ อย่างนี้วิชาชีพอื่นถือว่าไม่เป็นไร รับไว้ได้ไม่ขัดต่อความซื่อสัตย์สุจริต เพราะเป็นเรื่องที่ไม่มีคู่กรณี มีเฉพาะผู้ให้บริการและ ผู้รับบริการ แต่ในวิชาชีพกฎหมายนั้นแม้เราจะชี้ขาดหรือตัดสินไปด้วยความยุติธรรมไม่ได้เข้าข้างใคร ผู้ชนะหรือผู้ที่ได้รับความเป็นธรรม นำของกำนัล ของขวัญ หรือเงินทองมาให้เมื่อคดีเสร็จแล้วก็ตาม ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายที่เป็นผู้ดำเนินการ หรือเป็นผู้ชี้ขาด รับไว้ไม่ได้ หากรับไว้ถือว่าไม่ซื่อสัตย์สุจริต และขัดต่อประมวลจริยธรรมนักกฎหมาย เพราะในเรื่องคดีความนั้นเป็นเรื่องที่มี คู่กรณี เมื่อฝ่ายที่ชนะเอามาให้ ฝ่ายแพ้ย่อมจะเข้าใจว่าสาเหตุที่อีกฝ่ายหนึ่งชนะเพราะเอาของขวัญ ของกำนัล หรือเงินทองมาให้ รวมทั้งหากรับไว้จะเป็นหนทางหรือบ่อเกิดของการเพาะนิสัยให้อยากได้ทรัพย์สินของคนอื่นอันจะนำไปสู่ความไม่ซื่อสัตย์สุจริตต่อไป
ในเรื่องนี้มีพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สอบไล่ได้ ตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2520 ว่า “ กฎหมายทั้งปวงจะธำรงความยุติธรรมและถูกต้อง เที่ยงตรง หรือจะธำรงความศักดิ์สิทธิ์และประสิทธิภาพเต็มเปี่ยมอยู่ได้หรือไม่เพียงไรนั้น ขึ้นอยู่กับการใช้ คือถ้าใช้ให้ถูกวัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้น ๆ จริงแล้ว ก็จะทรงความศักดิ์สิทธิ์และประสิทธิภาพอันสมบูรณ์ไว้ได้ แต่ถ้าหากนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ โดยการพลิกแพลงบิดพลิ้วให้ผันผวนไปด้วยความหลงผิด ด้วยอคติ หรือด้วยเจตนาอันไม่สุจริตต่าง ๆ กฎหมายก็เสื่อมความศักดิ์สิทธิ์และประสิทธิภาพลงทันที และกลับกลายเป็นพิษเป็นภัยแก่ประชาชนอย่างใหญ่หลวง ผู้ที่ต้องการจะใช้กฎหมายสร้างสรรค์ความผาสุขสงบและความเป็นปึกแผ่นก้าวหน้าของประชาชนและบ้านเมืองจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาวัตถุประสงค์อันแท้จริงของกฎหมายแต่ละฉบับไว้ให้แน่วแน่เสมอไป อย่างไม่มีข้อแม้ประการใด ๆ พร้อมทั้งต้องรักษาอุดมคติ จรรยา ความสุจริต และมโนธรรมของนักกฎหมายไว้โดยรอบคอบ เคร่งครัดเสมอด้วยรักษาชีวิตของตนเอง กฎหมายไทยจึงจะทรงคุณค่าอันสมบูรณ์ บริบูรณ์ ”